phone x
+66-63-654-0999
line x
email x
morningmindcounseling@gmail.com
ภาวะ Burnout หมดไฟ อย่าเพิ่งรีบลาออกจากงาน - Morning Mind Clinic & Counseling Center
Morning Mind Clinic & Counseling Center Uncategorized ภาวะ Burnout หมดไฟ อย่าเพิ่งรีบลาออกจากงาน

ภาวะ Burnout หมดไฟ อย่าเพิ่งรีบลาออกจากงาน



โดย แพทย์หญิงตรีพิชญ์ พงศ์หชพร

ภาวะ Burnout เป็นกระบวนการทางจิตที่ใช้ตอบสนองต่อความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน

ภาวะ burnout เกิดกับใครได้บ้าง?

ภาวะหมดไฟในการทำงาน มักเกิดกับคนที่ทำงานลักษณะดังต่อไปนี้

  • High demand
  • Low control
  • Few reward

High Demand คืองานที่มีลักษณะกดดันสูง อาจมีแรงกดดันจากภายนอกสูงหรือเจ้าตัวเป็นคนที่ชอบกดดันตัวเองสูง มีลักษณะ perfectionist ต้องการความเป๊ะ 100 % จากผลงาน

Low control คือลักษณะงานที่ควบคุมได้ยาก เช่นไม่มีระเบียบแบบแผนชัดเจน หรือบังคับให้ทำซ้ำซากจำเจ

Few reward เป็นงานที่ได้ผลตอบแทนต่ำ หรือได้รับการยอมรับค่อนข้างน้อย ได้สิทธิสวัสดิการน้อย ทำมากขึ้นก็ไม่ได้อะไร ทำน้อยทำมากก็ได้รับผลตอบแทนต่างๆเท่าเดิม

เราจะมีวิธีสังเกตตัวเองอย่างไรบ้างว่าเรามี Burnout แล้ว ? อาการจะมีลักษณะใหญ่ๆ 3 อย่าง

Emotional Exhaustion

– ภาวะที่เพลียกาย เพลียใจ เพลียไปถึงจิตวิญญาณ อาการเพลียกายเช่น อาการปวดตามเนื้อตัว ปวดคอ บ่า ไหล่ อาการเพลียใจเช่น รู้สึกหมดแพสชั่นกับงาน ไม่อยากทำงานนี้อีกต่อไปแล้ว เฝ้ารอคอยแต่เวลาจะเลิกงาน ตัวอยู่กับงานแต่ใจไม่อยู่เลย เพลียไปถึงจิตวิญญาณ คือหมดสปิริตกับงาน ไม่อยากช่วยงานส่วนกลาง ไม่อยากที่จะอาสางาน

Depersonalization

– คือเกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมหรือลักษณะนิสัย มี 3 อย่างย่อยคือ Compassion Fatique คือความรู้สึกที่ไม่อยากจะเห็นอกเห็นใจผู้คน เริ่มมีพูดจาค่อนขอดค่อนแคะ พูดถึงคนอื่นในแง่ร้าย จนคนรอบข้างอาจจะสังเกตได้, Shame คือรู้สึกอับอาย เหมือนตัวเองถูกจ้องจับผิด คิดว่าคนอื่นมองตัวเองในแง่ไม่ดี และ Demonizing คือมองคนอื่นเป็นมารร้าย มองคนอื่นว่าชั่วร้ายไปหมด หัวหน้าก็ไม่น่าไว้วางใจ เพื่อนร่วมงานก็แย่ ลูกค้าก็ไม่เห็นอกเห็นใจ เลยวนกลับมาทำตัวแล้งน้ำใจเป็น compassion fatique แล้วก็วนลูปไปเรื่อยๆจนลักษณะนิสัยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

Lack of Efficiency

– เกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไร้ประสิทธิภาพ คนที่ burnout อาจจะรู้สึกว่าตนเองไร้ประสิทธิภาพหรืองานที่ทำไม่มีประสิทธิภาพก็ได้ เริ่มผลงานแย่ลง มองตัวเองในแง่ลบ เริ่มมีภาวะเศร้า

การแก้ไขเมื่อเกิดภาวะ burnout

– การลาพักผ่อนพักร้อน สามารถช่วยให้มีความผ่อนคลายขึ้น วิธีการมองปัญหาอาจจะเปลี่ยนแปลงไป มีวิธีจัดการแก้ไขปัญหาใหม่ๆที่ทำให้ผ่านพ้นช่วงภาวะ burnout ไปได้

– การลาออกจากงานอยากให้เป็นทางเลือกสุดท้ายมากกว่า เพราะเรียกว่าอาจเป็นการตัดปัญหาไปเลยทันทีโดยที่ยังไม่ได้ลองแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นๆก่อน ทำให้เมื่อไปเริ่มที่ทำงานใหม่ก็อาจจะติดวิธีการตัดปัญหาด้วยการลาออกเวลา burnout อีก ทำให้วนลูปเดิมได้ แนะนำให้หาวิธีการจัดการที่เหมาะสมมากกว่า

วิธีการจัดการกับภาวะ Burnout ที่เหมาะสม แบ่งเป็น 3 ระดับ

1 ระดับองค์กร (Organization level)

คือการตรวจจับให้ไวว่ามีภาวะ burnout เกิดขึ้นมาในองค์กรแล้ว โดยวิธี

  • ให้ความรู้เรื่องภาวะ burnout กับบุคลากร
  • ลดตราบาปให้กับคนที่เกิดภาวะ burnout เพราะไม่ใช่เกิดจากความอ่อนแอหรือเรียกร้องความสนใจ
  • การสร้าง wellness หรือ “สุขภาวะ” ที่ดีให้กับบุคลากรในที่ทำงาน เช่นโครงการสุขภาพจิตดี โครงการออกกำลังกาย ลดละเลิกบุหรี่หรือสุรา
  • การจัดการเรื่องของ workload ลดภาระงานที่กดดันมากเกินไปในเวลาจำกัด
  • จัดสถานที่หรือมุมผ่อนคลายระหว่างทำงานให้บุคลากรพักเบรกระหว่างทำงานได้บ้างจะช่วยลดภาวะ burnout และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
  • การเพิ่มแรงจูงใจด้วยการปรับเพิ่มผลตอบแทนให้พนักงาน เช่น การส่งจดหมายขอบคุณ การจัดรางวัลต่างๆให้เพื่อบุคลากรรู้สึกว่าเป็นที่ยอมรับและมีขวัญกำลังใจมากขึ้น

2 ระดับกลุ่ม (Interpersonal level)

  • คือการทำงานเป็นทีม การสร้างเครือข่ายให้รู้สึกว่ามีกลุ่มคอยสนับสนุน ไม่โดดเดี่ยว

3 ระดับบุคคล (Individual level)

  • คือการสร้างเสริมสุขภาพทั้งกายและใจที่ดีในหมู่พนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ , ออกกำลังกาย, พักผ่อนให้เต็มที่ มีงานวิจัยว่าการออกกำลังกาย เช่น การเดินแบบ nordic walking ต่อเนื่องกัน 60 นาที 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 10 สัปดาห์ จะทำให้ช่วยลดภาวะ burnout ได้ด้วย
  • พยายามปรับ work-life balance ให้สมดุลขึ้น เช่นลดความเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ลง ตัดใจแบ่งงานให้คนอื่นรับผิดชอบแทนบ้าง ลดมาตรฐานสมบูรณ์แบบลง
  • เข้าหาคนอื่นในครอบครัว แบ่งเวลาไปพักผ่อนเป็นระยะ
  • ฝึกสมาธิ ฝึกสติ ฝึกการหายใจและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ศึกษาจิตวิทยาบ้างเพื่อวิธีคิดและปรับมุมมองต่างๆ
  • เมื่อรู้ตัวว่าจัดการภาวะ burnout ด้วยตัวเองแล้วยังไม่ได้ผลให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

Related Post