phone x
+66-63-654-0999
line x
email x
morningmindcounseling@gmail.com
เมื่อพ่อแม่เป็นโรคหลงตน (Narcissistic Personality Disorder) สร้างบาดแผลให้ลูกตั้งแต่เด็กจนโต ตอนที่ 1 - Morning Mind Clinic & Counseling Center
Morning Mind Clinic & Counseling Center จิตบำบัด,พัฒนาการจิตใจมนุษย์,พัฒนาการเด็ก,โรคจิตเวช เมื่อพ่อแม่เป็นโรคหลงตน (Narcissistic Personality Disorder) สร้างบาดแผลให้ลูกตั้งแต่เด็กจนโต ตอนที่ 1

เมื่อพ่อแม่เป็นโรคหลงตน (Narcissistic Personality Disorder) สร้างบาดแผลให้ลูกตั้งแต่เด็กจนโต ตอนที่ 1




ลักษณะของพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตัวเอง(Narcissistic Parents)

เมื่อพูดถึงพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดโดยทั่วไปควรจะโยงถึงความรู้สึกที่รักใคร่อบอุ่น ดูแลห่วงใยลูก เป็นความรักโดยไม่มีเงื่อนไข พ่อแม่ที่มีการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสมนั้นจะมองลูกเป็นอีกปัจเจกบุคคลหนึ่ง(individual) ซึ่งมีลักษณะนิสัย,ความต้องการ มีพัฒนาการ แนวทางชีวิตที่เป็นของตัวเด็กเอง พ่อแม่นั้นจะช่วยซัพพอร์ตลูกให้พัฒนาไปข้างหน้า จะช่วยตอบสนองทางอารมณ์ (emotional needs)ให้กับเด็กเวลาที่เด็กต้องการความเข้าใจ ความเห็นใจ ช่วยปลอบเวลาที่เด็กเศร้าเสียใจ ให้กำลังใจ ไปพร้อมๆกับการให้ระเบียบวินัย ปรับพฤติกรรม มีการให้รางวัลและลงโทษอย่างเหมาะสม ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่าเป็นที่รักและมีคุณค่า

แต่เมื่อพ่อหรือแม่หรือทั้งสองคนมีบุคลิกภาพแบบคนหลงตน (narcissistic personality disorder) ขึ้นมา ความรักที่มีต่อลูกก็จะเกิดความบิดเบือนไปจากความรักของพ่อแม่ที่ปกติ กลายเป็นความรักที่มีเงื่อนไข(conditional love) โดยมองว่าลูกเป็นสมบัติหรือเป็นส่วนขยายของตนเอง(extension of the self) คือมองว่าลูกคือสิ่งที่แสดงถึงหน้าตาภาพพจน์ โดยที่ไม่ได้มองว่าลูกก็เป็นบุคคลอีกคนนึงต่างหากที่มีอารมณ์ความรู้สึกความคิดและความต้องการของตนเอง ความรักของพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตนจะมีเพื่อตอบสนองอารมณ์และความรู้สึกความต้องการของพ่อแม่เองเท่านั้น

ซึ่งการเลี้ยงลูกลักษณะนี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า อารมณ์และความรู้สึกความคิดเห็นของตนเองไม่ใช่เรื่องสำคัญ การใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตนเองจะทำให้มีความรู้สึกเดินอยู่บนเปลือกไข่ที่พร้อมจะแตกตลอดเวลาเพราะไม่รู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับตนเองบ้าง เด็กหลายคนพยายามที่จะเอาใจและทำให้พ่อแม่พอใจทุกอย่าง จนติดนิสัยกลายเป็นคนที่ขี้เกรงใจคนไม่มีปากมีเสียง หรือบางคนก็สืบทอดลักษณะของพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตัวเองต่อไปเนื่องจากเป็นความรักจากพ่อแม่แบบเดียวที่เด็กเรียนรู้

ถ้ามีลูกหลายคนในบ้านบางครั้งก็จะเกิดลักษณะลูกรักที่ได้ดั่งใจพ่อแม่ หรือลูกชังที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ได้ขึ้นมา ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านในบ้าน เกิดปัญหาความสัมพันธ์กับพี่น้องได้อีกด้วย

ปกติแล้วมนุษย์เราไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ พ่อแม่ก็เช่นกันส่วนมากไม่มีใครที่จะสามารถเป็นพ่อแม่ตามอุดมคติได้ 100% หลายคนอาจจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตนบ้าง แต่มักจะเป็นระดับอ่อนๆ เป็นแค่บางครั้งบางคราว บางสถานการณ์เท่านั้น แต่แบบไหนที่ถึงขั้นที่เรียกว่าเข้าข่ายผิดปกติแล้ว? ที่จะทำให้มีผลกระทบด้านลบ เกิดบาดแผลทางใจ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการสุขภาพจิตของเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่

ลักษณะของพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตน (Narcissistic Parents)

1. ความรักแบบมีเงื่อนไข(Conditional Love)

ความรักของพ่อแม่ปกติที่สุขภาพจิตดีที่จะรักตัวตนของลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข (แต่อาจจะแค่ไม่ยอมรับกับพฤติกรรมลูกบางอย่างที่ไม่ดีซึ่งต้องการปรับพฤติกรรมด้วยวินัยต่อไป) พ่อแม่ที่รักลูกแบบปกติจะมองว่าลูกเป็นคนอีกคนหนึ่งแยกจากตนซึ่งมีชีวิตจิตใจของตนเอง ถ้าลูกมีความสำเร็จในแนวทางของลูกเอง พ่อแม่ก็จะมีความภูมิใจและรู้สึกยินดีในตัวลูก แต่ถ้าลูกพบกับความล้มเหลวผิดหวังก็พร้อมที่จะให้กำลังใจและช่วยซัพพอร์ตให้ลุกขึ้นก้าวต่อไปได้…

ซึ่งแตกต่างจากพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตนจะเป็นความรักแบบมีเงื่อนไข ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกจะแปรผันตรงตามความสามารถในการตอบสนองต่ออารมณ์ของพ่อแม่ได้ขนาดไหน ถ้าความสำเร็จของลูก ทำให้พ่อแม่ได้หน้าได้ตา เอาไปอวดคนอื่นเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของพ่อแม่เอง หรือสามารถพูดเอาใจพ่อแม่ได้อย่างถูกใจก็จะกลายเป็นลูกรักหรือที่เรียกว่า “golden child” แต่ถ้าลูกไม่สามารถทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ได้เช่นไม่สามารถจะมีผลการเรียนหรือมีความสามารถพิเศษต่างๆที่ดูดี ที่ทำให้พ่อแม่เอาไปอวดอย่างภาคภูมิใจ หรือบางคนที่ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของพ่อแม่หลงตนที่ต้องการให้คนอื่นๆรวมถึงลูกมาบูชา พูดชมเชยหรือยกยอปอปั้นตนเอง ก็จะกลายเป็นเด็กที่ถูกละเลย พ่อแม่แทบจะไม่สนใจ แทบจะไร้ตัวตนอยู่ในบ้าน (neglected child) หรือถ้าลูกคนไหนเกิดเป็นคนที่หัวแข็ง มีการต่อต้านพ่อแม่ ไม่ยอมทำตามสิ่งที่พ่อแม่เรียกร้อง หรือมีพฤติกรรมทำให้พ่อแม่เกิดความรู้สึกอับอายขายหน้าขึ้นมา ทำลายภาพลักษณ์ที่ดูดีของพ่อแม่ ก็จะทำให้พ่อแม่มองเป็นลูกชังไปเลย อาจจะถูกโยนความผิดทุกอย่างในบ้านให้ หรือถูกเลือกปฏิบัติแบบลดทอนคุณค่า (black sheep/scapegoat) ทั้งนี้ พ่อแม่อาจโยนบทบาทเหล่านี้ให้ลูกแต่ละคนตายตัวไปเลย หรือในเด็กคนเดียวกันอาจจะถูกเปลี่ยนสลับบทบาทไปมาได้ ขึ้นกับว่าในขณะนั้นจะทำให้พ่อแม่รู้สึกยังไง

2. เลี้ยงลูกแบบมองตนเองเป็นศูนย์กลาง (Self – centered ไม่ใช่แบบ Child – centered)

พ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตัวเองจะมองว่าความต้องการทางด้านอารมณ์ และการตอบสนองความปรารถนาของพ่อแม่เองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือกว่าความต้องการทางด้านอารมณ์หรือความปราถนาของลูก การเลี้ยงลูกจะเอาไว้ตอบสนองความต้องการของพ่อแม่เอง อย่างในสังคมเห็นได้เยอะมากอย่างเช่นพ่อแม่ที่บังคับให้ลูกเลือกสายการเรียนหรืออาชีพที่พ่อแม่ชอบ เพื่อที่จะได้เอาไปพูดให้คนอื่นฟังได้แล้วรู้สึกภูมิใจ โดยคนอื่นจะชื่นชมกลับมาว่าเป็นเพราะพ่อแม่เลี้ยงลูกดี หรือเพราะมีเชื้อสายกรรมพันธุ์ที่ดีจากพ่อแม่ (ภูมิใจในตัวลูกของ“ฉัน” ไม่ใช่ภูมิใจในตัว “ลูก”) เมื่อลูกรู้สึกดีใจที่ประสบความสำเร็จมาเล่าให้ฟังพ่อแม่ก็จะพูดถึงความสำเร็จของตนเองที่ยิ่งใหญ่กว่า หรือบางครั้งลูกมาพูดถึงความเศร้าเสียใจของตนเองพ่อแม่ก็จะบอกว่าความเศร้าเสียใจและลำบากของพ่อแม่มากกว่าของลูกเสียอีก ทุกอย่างในการสนทนานั้นจะต้อง พูดถึงแต่เรื่องของพ่อแม่เอง เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องของพ่อแม่เสมอ

นอกจากนั้นเมื่อเด็กเริ่มเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น พ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตนอย่างรุนแรงบางคนถึงกับขั้นรู้สึกว่าความสำเร็จและความโดดเด่นของลูกอาจเริ่มเป็นภัยคุกคามต่อพ่อแม่เสียเอง หลายคนเล่าว่ารู้สึกว่าตนเองจะต้องเก่งและโดดเด่นเพื่อเชิดหน้าชูตา แต่เมื่อไหร่ที่อยู่กับพ่อแม่ก็ห้ามเกินหน้าเกินตาพ่อแม่ด้วย เมื่อผู้อื่นเริ่มชื่นชมลูก โดยที่ไม่ได้พูดถึงหรือชื่นชมพ่อแม่ก็จะเกิดบรรยากาศที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าจะต้องลดระดับตนเองลงมาให้พ่อแม่เด่นและยังเป็นคนสำคัญที่สุดเสมอ

3.ขาดความเห็นอกเห็นใจ ไม่ได้สนใจอารมณ์และความคิดของลูก (Lack of Empathy)

ไม่ได้มองว่าความรู้สึกหรือความคิดเห็นของลูกสำคัญ เมื่อลูกมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับตนเอง อาจจะทำให้เป็นเรื่องเล็กหรือ gaslight ทำให้ลูกเข้าใจว่าอารมณ์หรือความคิดของลูกเป็นเรื่องที่แปลกและผิดปกติ (เช่น “พ่อว่าลูกเป็นคนที่คิดมากเกินไป เรื่องเล็กแค่นี้เอง”/“ลูกเป็นเด็กที่แปลกจริงๆ เพื่อนแม่ก็ว่าลูกแปลกๆ แม่ว่าลูกไม่ค่อยปกตินะ”) จะยอมรับเฉพาะความรู้สึกหรือความคิดเห็นของลูกที่สอดคล้องกับของพ่อแม่เท่านั้น การที่พ่อแม่ไม่เคยยอมรับความคิดหรือความรู้สึกของลูกเองทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่สำคัญนำไปสู่ความรู้สึกไร้ค่า กำหนดชีวิตของตนไม่ได้ ขาดความมั่นใจในตนเอง

4. คอยชักใยหรือหาวิธีชักจูง/บังคับให้ลูกเป็นไปตามที่ตนเองต้องการ (Manipulative Behavior)

พ่อแม่หลงตนจะพยายามหาวิธีคอยควบคุมหรือชักจูงให้ลูกทำตามที่ตนเองต้องการ เพื่อให้ตนเองมีอำนาจสูงสุดในครอบครัว อาจใช้วิธีหลอกล่อหรือพูดให้รู้สึกผิดบาป พูดให้ลูกรู้สึกละอายใจ เช่น “เพราะว่าความดื้อดึงของลูกที่ไม่ยอมทำตามแม่บอก ทำให้แม่อาการป่วยกำเริบ หมอบอกว่าถ้าแม่ยังเครียดแบบนี้แม่คงอยู่ไม่ได้นาน เป็นเวรกรรมอะไรของชั้นนะที่ต้องมามีลูกแบบนี้(ร้องไห้)”

5. ให้ความสำคัญกับหน้าตาและภาพพจน์ของตนเองมาก คิดว่าตนเองมีความเหนือชั้นและสูงส่งกว่าผู้อื่น (Grandiosity and Entitlement)

คนที่มีบุคลิกภาพเป็นโรคหลงตนเองมักจะต้องการให้ผู้คนที่ล้อมรอบปฏิบัติต่อตัวเองเป็นพิเศษเหนือกว่าใคร ได้รับการยกย่องชื่นชม เมื่อไม่ได้รับจากสังคมข้างนอกก็มาเรียกร้องให้คนในครอบครัวรวมถึงลูกปฏิบัติต่อตนเองแบบนั้น ต้องการมีลูกที่ดูดีทำให้พ่อแม่เอาไว้อวดคนอื่นได้หรือลูกสามารถพูดเอาใจหรือปรนนิบัติพ่อแม่ได้ถูกใจ ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่ายิ่งใหญ่ในบ้าน

หลังจากเราเข้าใจลักษณะของพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตนแล้วในบทความต่อไปเราจะมาดูผลกระทบของเด็กที่โตมากับพ่อแม่ลักษณะแบบนี้กันค่ะว่าจะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง

Related Post