ทำยังไงจะเข้าใจตัวเอง?


นพ.ศิระ กิตติวัฒนโชติ

การเข้าใจตัวเอง(จริงๆ)มีความสำคัญยังไง?

การเข้าใจตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเข้าถึงความสุขที่แท้จริงภายใน

วิธีที่จะเข้าใจตัวเองได้เราจะต้องรู้ก่อนว่าจิตใจของเราประกอบด้วยอะไรบ้าง เปรียบเหมือนถ้าเรามีบ้านอยู่สักหนึ่งหลังที่มีสี่ห้อง เราต้องเห็นและเข้าไปสำรวจดูให้ครบทั้งสี่ห้องแล้วจึงจะเรียกได้ว่าเราเข้าใจบ้านหลังนี้ จิตใจก็เช่นกัน เราต้องรู้ก่อนว่าจิตใจประกอบด้วยอะไรบ้าง และสามารถเข้าใจจิตใจแต่ละส่วนได้ครบถ้วน อย่างนี้เราถึงจะเข้าใจตัวเองได้

โมเดลโครงสร้างของจิตใจเรา

Virginia Satir นักจิตบำบัดชาวอเมริกันได้พัฒนา ซาเทียร์โมเดล ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเป็นหลักการบำบัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและได้ช่วยเหลือจิตใจผู้คนจำนวนมาก

ซาเทียร์ เปรียบจิตใจของแต่ละคนเหมือนภูเขาน้ำแข็ง(iceberg) ที่ลอยอยู่ในทะเล ซึ่งก็จะมีส่วนที่ลอยอยู่เหนือน้ำ และส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำ ส่วนที่ลอยอยู่เหนือน้ำนั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับส่วนที่อยู่ใต้น้ำซึ่งใหญ่กว่ามาก

ภูเขาน้ำแข็ง, ซาเทียร์,satir model


ซาเทียร์แบ่งจิตใจของผู้คนหรือภูเขาน้ำแข็งก้อนนี้ออกเป็น 6 ชั้น ได้แก่

1) พฤติกรรม(Behavior)


คือภูเขาน้ำแข็งส่วนที่ลอยอยู่เหนือน้ำ เพราะเป็นส่วนที่คนภายนอกมองเห็นเราได้ด้วยตา


พฤติกรรม ได้แก่ สิ่งที่เราทำหรือพูด แสดงออกไปภายนอกให้คนอื่นได้เห็น แต่ละคนมีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป บางคนขยันบางคนขี้เกียจ บางคนเรียบร้อย บางคนรุนแรง
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมต่างๆของผู้คนย่อมมีเหตุผลที่มาที่ไปเสมอ ซึ่งที่มาของพฤติกรรมก็คือส่วนของจิตใจภายในหรือภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้ทะเลนั่นเอง เช่น พฤติกรรมติดเพื่อนมากของวัยรุ่นบางคน อาจมีที่มาจากจิตใจซึ่งขาดความอบอุ่นของเขา เพราะพ่อแม่แยกทางกัน

ต่อมาเรามาทำความเข้าใจในชั้นที่อยู่ใต้น้ำกันบ้าง ซึ่งเป็นส่วนจิตใจที่เป็นนามธรรมภายในนั่นเอง และยิ่งอยู่ชั้นลึกลงไปมากเท่าไร ก็หมายถึงยิ่งอยู่ก้นบึงหัวใจมากเท่านั้น เมื่อชั้นที่อยู่ลึกกว่าเปลี่ยนแปลงก็สามารถส่งผลให้ชั้นที่อยู่ผิวกว่า เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยได้

2) อารมณ์ (emotions/feelings)


ก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจเรา เช่น ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ กังวล ซึมเศร้า เครียด น้อยใจ ผิดหวัง รู้สึกผิด
อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่มากระทบเรา และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น เมื่อเพื่อนมาชมเราเราก็จะมีอารมณ์ดีใจ เมื่อเพื่อนมาตำหนิเราเราก็จะมีอารมณ์เสียใจ อารมณ์ เป็นสิ่งที่เราบังคับไม่ได้แต่ฝึกรู้ทันได้

3) ความคิด/มุมมอง (thoughts/perception)


ได้แก่ มุมมองของเราที่มีต่อสิ่งต่างๆ เช่น

  • ผมมองว่านางสาวไทยปีนี้สวยมาก
  • ผมคิดว่าเมืองไทยน่าอยู่ที่สุดในโลก
  • ผมว่าแกงเขียวหวานเป็นอาหารไทยที่อร่อยที่สุด

คนเราคิดต่างกันมองต่างกันได้ และความคิดก็เป็นเพียงมุมมองของเราซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้

เช่น คุณครูท่านหนึ่งมีอาการซึมเศร้าและคิดว่าตัวเองไร้ค่าไม่มีความหมายเลย (ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ตรงจริง เพราะคุณครูได้เคยสอนนักเรียนทำประโยชน์ต่างๆแก่นักเรียนมามากมาย จะว่าตนเองไม่มีค่าได้อย่างไร)

4) ความคาดหวัง (expectations)


ได้แก่ ความอยากหรือไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ที่เกิดขึ้นในใจเรา ความคาดหวังแบ่งเป็นคาดหวังต่อตัวเอง ต่อผู้อื่นและต่อโลกต่อสังคม ถ้าจะเปรียบกับทางพุทธก็คือตัณหา(ความอยาก) นั่นเอง


ความคาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน นำความทุกข์มาสู่ใจเรา หากเรารู้ทันและสามารถปล่อยวางความคาดหวังได้ ก็จะปล่อยวางความทุกข์ในใจไปได้

5) ความปรารถนา(yearnings)


ได้แก่ ความต้องการลึกๆในจิตใจ เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่จิตใจขาดไม่ได้

ถ้าเปรียบเทียบกับร่างกาย ร่างกายต้องการปัจจัยสี่คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค หากร่างกายขาดอาหารร่างกายจะตาย เพราะอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ร่างกายขาดไม่ได้ แต่หากร่างกายขาดโทรศัพท์มือถือก็อาจไม่ถึงตาย เพราะโทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นปัจจัยพื้นฐาน


จิตใจก็เช่นกัน ปัจจัยพื้นฐานที่จิตใจขาดไม่ได้ หรืออาจเรียกว่าเป็นอาหารของจิตใจ นั่นก็คือความหมายของคำว่า ความปรารถนา ในชั้นนี้นั่นเอง


ซาเทียร์กล่าวว่าความปรารถนาของจิตใจ ได้แก่


5.1) ความรัก

ความรักในที่นี้เป็นความหมายกว้างๆ ทั้งความรักแบบหนุ่มสาว ความรักที่พ่อแม่มีให้ลูก มิตรภาพที่เพื่อนมีให้กัน ความห่วงใยใส่ใจ ความเอื้ออาทร ความเมตตาหวังดี

ซาเทียร์กล่าวว่าความรักเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จิตใจขาดไม่ได้ นั่นคือ หากคนใดคิดว่าไม่มีใครรักเขาเลย และเขาก็ไม่รักตัวเองเลย จิตใจของคนผู้นั้นย่อมแห้งแล้ง เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำจนแห้งแล้งและเฉาตายไปในที่สุด


5.2) คุณค่า

คนเราทุกคนต้องการที่จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความหมาย มีความสำคัญ หรือมีประโยชน์ หากคนใดไม่มีใครเห็นค่าของเขาเลย และตัวเขาก็ไม่เห็นค่าของตัวเอง เขาย่อมรู้สึกหมดกำลังใจและไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่ออะไร


5.3) การยอมรับ

การยอมรับในที่นี้หมายถึงยอมรับในสิ่งที่เราเป็น ยอมรับในสิ่งที่เราทำ คนเราทุกคนต้องการได้รับการยอมรับทั้งจากผู้อื่นและจากตัวเอง


5.4) ความเชื่อมโยงผูกพัน

คนเราเมื่อได้อยู่ด้วยกันได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันเป็นเวลานานๆ ย่อมเกิดความผูกพันกัน เช่น คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันมาหลายสิบปีจนแก่เฒ่า เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายจากไป อีกฝ่ายก็จะขาดอาหารใจตัวความเชื่อมโยงผูกพันนี้ จนทำให้ว้าเหว่และหมดพลังใจ

อย่างไรก็ตาม หากสามารถสร้างความเชื่อมโยงให้รู้สึกว่ายังมีอีกฝ่ายอยู่ในใจเสมอ แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน อย่างนี้ก็สามารถเติมเต็มอาหารใจตัวนี้ให้จิตใจของเราได้


5.5) ความปลอดภัยมั่นคง

คนเราย่อมต้องการแน่ใจว่าร่างกายและจิตใจของเราจะมีความปลอดภัย ไม่มีใครมาทำร้าย ไม่มีอันตรายใดๆเข้าถึงได้


5.6) อิสรภาพ

จิตใจทุกคนย่อมต้องการอิสระเสรี ไม่ต้องถูกบังคับควบคุมโดยผู้อื่นหรือสิ่งใด ไม่มีภาระให้ต้องทนแบกไป


5.7) ความสงบสุข

จิตใจทุกคนย่อมต้องการความสงบสุข ต้องการสันติภาพในใจ ความสงบสุขเป็นความสุขที่สงบร่มเย็นในใจนั่นเอง

ในชั้นที่ 4)ความคาดหวัง และชั้นที่ 5) ความปรารถนา มีความสัมพันธ์กันที่น่าทำความเข้าใจ นั่นคือในแต่ละความคาดหวัง เราควรค้นหาว่าลึกๆเราต้องการความปรารถนาอะไร…

ตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนคนหนึ่งที่คาดหวังอยากเรียนเก่ง อยากสอบได้ที่หนึ่ง ลึกๆแล้วการสอบได้ที่หนึ่งอาจจะทำให้เด็กคนนี้ ได้เติมเต็มความปรารถนาคือความรักก็ได้ เพราะถ้าสอบได้ที่หนึ่งพ่อแม่จะแสดงท่าทีรักมากขึ้น แต่ถ้าปีไหนสอบไม่ได้ที่หนึ่งพ่อแม่จะแสดงท่าทีไม่ค่อยรัก


การสอบได้ที่หนึ่งอาจจะเป็นเรื่องของคุณค่าในเด็กบางคน ถ้าสอบได้ที่หนึ่งแล้วจะรู้สึกตัวเองมีค่า ถ้าไม่ได้ที่หนึ่งแล้วรู้สึกตัวเองไร้ค่า หรืออาจเป็นเรื่องการยอมรับก็ได้ ถ้าสอบได้ที่หนึ่งแล้วจะได้รับการยอมรับจากเพื่อน หรืออาจจะเป็นหลายๆความปรารถนารวมกันก็ได้ นั่นคือการสอบได้ที่หนึ่ง ลึกๆแล้วต้องการอาหารใจทั้งความรัก คุณค่า และการยอมรับ

ประเด็นนี้มีความสำคัญเพราะ บางคนพยายามทุ่มเทมากเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง เช่น ความร่ำรวย ชื่อเสียง ยศตำแหน่ง คนรัก ผลงาน บางคนเสียเวลาไปหลายสิบปีหรือทั้งชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ตามที่ตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ โดยที่ไม่เคยเข้าใจตัวเองในส่วนลึกเลย ว่าจริงๆแล้วที่อยากได้สิ่งเหล่านี้เพราะต้องการความปรารถนาหรืออาหารใจตัวใด

การเติมเต็มความปรารถนาที่ขาดไปให้กับจิตใจของตัวเองนั้น บางทีก็ทำได้ในปัจจุบันขณะนี้เลย เช่น บางคนต้องการรวยร้อยล้าน เพราะลึกๆต้องการเติมเต็มว่าตนมีคุณค่า ถ้าเขาใช้เวลา 30 ปีกว่าจะมีร้อยล้าน เขาก็จะต้องอยู่กับจิตใจที่หิวและแห้งแล้งว่าตนเป็นคนไร้ค่าอยู่ถึง 30ปี ความเข้าใจตัวเองสามารถทำให้เขาเติมเต็มและรู้สึกว่าตัวเองมีค่าได้ ณ ปัจจุบันนี้เลย ไม่ต้องเป็นทุกข์ไปอีก 30ปี ในระหว่างนี้เขาก็สามารถหาเงินร้อยล้านด้วยใจที่อิ่มเต็มคุณค่าได้

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเติมเต็มอาหารใจนั้นสามารถทำได้สองแบบนั่นคือ (1)ให้ผู้อื่นมาเติมให้ และ (2)เติมเต็มด้วยตัวของเราเอง

ยกตัวอย่างเรื่องอาหารใจคือความรัก เราเติมเต็มได้จากการที่เราเป็นที่รักของคนอื่น และ เราเติมเต็มได้จากการที่เรารักตัวเอง

โดยธรรมชาติของคนทั่วไปมักเคยชินกับการให้ผู้อื่นมาเติมเต็มอาหารใจให้ หากเราได้ศึกษาเรื่องนี้ เราสามารถพัฒนาตนเอง ไปสู่นิสัยใหม่ทางจิตใจที่จะเติมเต็มอาหารใจให้ตัวเองได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นสิ่งอื่น เรียกได้ว่ามีอิสรภาพทางความสุข อิสรภาพทางจิตใจ

6) ตัวตน(self)


เป็นชั้นที่อยู่ลึกที่สุดในจิตใจ เป็นแก่นของเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นชั้นที่บ่งบอกว่า เราเป็นใคร เกิดมาเพื่ออะไร มีเป้าหมายชีวิตอย่างไร มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบไหน

แต่ละคนในโลกใบนี้ไม่มีใครเหมือนกันเลย ยีนของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ลายนิ้วมือของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน นิสัยใจคอความสามารถภายในของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีความพิเศษในแบบของตัวเองที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก


หากใครเข้าใจตัวตนของตัวเอง จะสามารถเข้าถึงภาวะสมดุลย์กลมกลืน(congruence) มีความปรารถนาที่เติมเต็ม สามารถรัก เห็นคุณค่า และยอมรับตัวเองได้อย่างไม่มีเงื่อนไข

เมื่อเรารู้จักชั้นต่างๆของภูเขาน้ำแข็งหรือจิตใจของเราทั้ง 6 ชั้นแล้ว ต่อมาเราจะต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถเข้าใจจิตใจแต่ละชั้น

เปรียบเหมือนเมื่อเรารู้แล้วว่าในบ้านของเรามีกี่ห้อง ห้องรับแขกอยู่ตรงไหน ห้องน้ำอยู่ตรงไหน ห้องนอนอยู่ตรงไหน ต่อมาก็คือเราจะต้องเดินเข้าไปสำรวจในแต่ละห้องให้เห็นทุกซอกทุกมุม จึงจะเรียกว่าเราเข้าใจบ้านหลังนี้นั่นเอง

สำหรับจิตใจเราสามารถพัฒนาตัวเองให้เข้าใจจิตใจของเราได้โดย เวลาเราเจอเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันต่างๆเข้ามากระทบ จิตใจของเราแต่ละชั้นตอบสนองอย่างไรเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ให้เรามีสติรู้ทัน ฝึกอย่างนี้บ่อยๆเนืองๆ ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง หลายเดือนหลายปีผ่านไป เราก็จะมีนิสัยในการช่างสังเกตจิตใจของตนเอง และเราจะเข้าใจจิตใจตัวเองลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ

สรุป-เข้าใจจิตใจตัวเองแล้วมีประโยชน์อย่างไร?

การเข้าใจจิตใจตัวเองมีประโยชน์มากมายพอจะสรุปได้ดังนี้

1) ทำให้ความทุกข์ในใจน้อยลงไป


นี่เป็นธรรมชาติของจิตใจที่อัศจรรย์ ว่าถ้าเราเข้าใจและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของเราตามจริง เราจะปล่อยวางได้และความทุกข์จะน้อยลงในทันที ยกตัวอย่าง น้องผู้หญิงที่ผิดหวังในความรักเพราะแฟนทิ้งไป ในใจลึกๆ ก็ยังคาดหวังให้คนรักกลับมารักตนดังเดิม แต่ไม่ยอมรับว่ายังมีความคาดหวังอยู่ เวลาใครถามก็จะบอกว่าไม่สนไม่แคร์แฟน อยากไปก็เชิญเลย ตัวเองก็พยายามหลอกตัวเองว่าไม่สนใจ ไม่คาดหวัง การวางจิตใจเช่นนี้จะทำให้ความทุกข์อยู่ในใจไปอีกนาน ไม่อาจหายทุกข์ได้โดยง่าย แต่หากทำความเข้าใจจิตใจของตนและยอมรับตามจริงว่าในชั้นของความคาดหวังยังมีความอยากให้แฟนกลับมารักอยู่ ถ้าทำเช่นนี้ได้ ใจจะปล่อยวางความทุกข์ได้ง่าย หลายคนทุกข์ใจน้อยลงไปมากเพียงยอมรับความจริง แม้ว่าในชีวิตจริงแฟนจะยังไม่ได้กลับมาก็ตาม

2) ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของตนเองได้


การเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม เราต้องรู้ก่อนว่าเราผิดตรงไหน เราจึงจะเปลี่ยนที่ตรงนั้นได้ถูกที่ ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูก จิตใจของเราแต่ละชั้นก็เช่นกัน เราจะเปลี่ยนความคิด เราต้องจับให้ได้ก่อนว่าเดิมเราคิดอะไรและความคิดนี้ไม่ตรงจริงอย่างไร เราจึงจะเปลี่ยนเป็นความคิดใหม่ได้ เราจะเปลี่ยนความคาดหวัง เราต้องรู้ตัวก่อนว่าเดิมเราคาดหวังอะไร เราจึงจะเปลี่ยนเป็นความคาดหวังใหม่ที่เหมาะสมได้ เราจะเติมเต็มอาหารใจเราต้องรู้ก่อนว่าเดิมเราขาดอาหารใจตัวไหนไป เราจึงจะเติมได้ถูกต้องถูกตัว

3) ทำให้สามารถพัฒนาตนเองไปสู่การมีความสุขที่แท้จริง


หากเรารู้ทันอารมณ์เราจะเป็นนายไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ หากเรารู้ทันความคิดเราจะไม่โดนความคิดในแง่ลบแง่ร้ายบั่นทอนจิตใจ เราจะสามารถสร้างความคิดบวกความคิดตรงจริงมาเติมกำลังใจให้ตัวเอง หากเรารู้ทันความคาดหวัง เราจะสามารถปล่อยวางความทุกข์จากความยึดติดในสิ่งนั้นๆได้
หากเราเข้าใจตนเองโดยเฉพาะในสองชั้นสุดท้ายนั่นคือความปรารถนาและตัวตน เราจะสามารถเติมเต็มอาหารใจให้กับตนเองโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นสิ่งอื่นมาเติมให้ และจะสามารถเข้าถึงความสุขที่แท้จริงในใจได้ครับ