phone x
+66-63-654-0999
line x
email x
morningmindcounseling@gmail.com
เมื่อพ่อแม่เป็นโรคหลงตน (Narcissistic Personality Disorder) สร้างบาดแผลให้ลูกตั้งแต่เด็กจนโต ตอนที่ 2 - Morning Mind Clinic & Counseling Center
Morning Mind Clinic & Counseling Center จิตบำบัด,พัฒนาการจิตใจมนุษย์,พัฒนาการเด็ก,โรคจิตเวช เมื่อพ่อแม่เป็นโรคหลงตน (Narcissistic Personality Disorder) สร้างบาดแผลให้ลูกตั้งแต่เด็กจนโต ตอนที่ 2

เมื่อพ่อแม่เป็นโรคหลงตน (Narcissistic Personality Disorder) สร้างบาดแผลให้ลูกตั้งแต่เด็กจนโต ตอนที่ 2




จากบทความคราวที่แล้วเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตน(Narcissistic Personality Disorder)กันไปแล้ว ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงผลกระทบของเด็กที่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหลงตน ว่าจะได้รับผลลบซึ่งขัดขวางต่อพัฒนาการของสุขภาพจิตที่ดีอย่างไรบ้าง

ผลกระทบทางด้านจิตวิทยาของลูกที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่เป็นคนหลงตน

เด็กที่เติบโตมากับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหลงตนเองจะมีความเสี่ยงอย่างสูงกับปัญหาสุขภาพจิต ส่งผลอย่างมากต่อความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง เด็กจะได้รับผลกระทบมากน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการหลงตนของผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดู และความสามารถยืดหยุ่นปรับตัวโดยธรรมชาติของเด็ก ซึ่งอาจลดผลกระทบลงได้บ้าง แต่โดยทั่วไปผลกระทบจะมีลักษณะร่วมกันดังนี้

1. มีความมั่นใจในคุณค่าของตนเองต่ำ (Low Self Esteem)

เนื่องจากเด็กเติบโตมาโดยที่ได้รับความรักอย่างมีเงื่อนไขเด็กจะรู้สึกว่าเนื้อแท้ของตนเองนั้นไร้ค่า การจะได้รับความรักต้องแลกมากับการพยายามทำสิ่งตอบแทนที่พ่อแม่พอใจเพื่อแลกเปลี่ยนความรักจากพ่อแม่ ทำให้มีความฝังใจว่า“ค่าของตนอยู่ที่ผลของงาน” หรือต้องประสบความสำเร็จเท่านั้นถึงจะมีคุณค่าในสายตาพ่อแม่ผู้อื่น การที่เติบโตมากับการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากพ่อแม่และถูก gaslight อย่างต่อเนื่องก็ทำให้เกิดความลังเลสงสัยในตนเองอยู่เสมอ

2. มีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Difficulty in Relationship)

เนื่องจากเติบโตมาโดยไม่เคยได้อยู่กับความสัมพันธ์แบบปกติที่จะเห็นคุณค่าและเคารพในตัวตนของกันและกัน ทำให้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคหลงตนก็จะเกิดปัญหามากในการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือความสัมพันธ์กับคู่ครองและรวมไปถึงลูกของตนเองด้วย ทำให้ไม่รู้สึกเชื่อมั่นในความสัมพันธ์(trust) เนื่องจากกลไกทางจิตวิทยาที่มักจะทำให้คนเราเลือกความสัมพันธ์แบบเดิมที่คุ้นเคยเพื่อทำให้จิตไร้สำนึกรู้สึกปลอดภัย หรือบางครั้งจิตไร้สำนึกอยากจะกลับมาแก้ไขอดีต ทำให้มักเผลอตกหลุมพรางไปเลือกสร้างความสัมพันธ์กับคนที่มีลักษณะเป็นโรคหลงตนเหมือนกับพ่อแม่ของตนเองทำให้เริ่มวงจรด้านลบนี้ใหม่อีกครั้ง หรือหลายคนก็พัฒนากลายเป็นโรคหลงตนเหมือนกับพ่อแม่ของตัวเองแล้วก็ไปมีลักษณะการเลี้ยงดูลูกแบบเดิมกับที่ตนเองได้รับมาเพราะเป็นสิ่งเดียวที่ตนเองเรียนรู้มาอย่างนั้น จนทำให้เกิดเหยื่อของเด็กที่มีพ่อแม่เป็นโรคหลงตนต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

3.มีปัญหาในการจัดการควบคุมอารมณ์ของตนเอง (Emotional Regulation Problems)

เนื่องจากเด็กอยู่กับความเคยชินมาตลอดที่ต้องกดข่มอารมณ์ของตนเองไว้เนื่องจากเรียนรู้มาว่าอารมณ์ความรู้สึกของตนเองไม่สำคัญเท่าอารมณ์ความรู้สึกของพ่อแม่ จะต้องผลักความรู้สึกออกไปให้พ้นตัวเพื่อไม่ให้ไปรบกวนพ่อแม่ เด็กจึงขาดการเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการกับอารมณ์ด้านลบของตนเองอย่างเหมาะสม ส่งผลกระทบทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตในระยะยาวเช่นเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือกลุ่มโรคทางจิตเวชอื่นๆ

4. ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง (Identity Confusion)

เนื่องจากเด็กจะต้องโตขึ้นมาโดยที่ทำทุกอย่างตามความปรารถนาของพ่อแม่ พ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตนจะไม่ได้มองว่าลูกเป็นบุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งควรที่จะได้พัฒนาลักษณะนิสัย,รสนิยม,ความถนัดและเป้าหมายชีวิตของตนเอง แต่ลูกจะเป็นส่วนขยายของพ่อแม่(extension of the self) ซึ่งต้องตามสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้ได้ เพื่อเติมเต็มจิตใจของตัวพ่อแม่เอง เด็กจึงโตขึ้นมาโดยที่ไม่ได้รู้จักตัวเองที่แท้จริงดีเลย เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นซึ่งพัฒนาการตามช่วงวัยควรที่จะเริ่มรู้จักและค้นพบอัตลักษณ์(identity)ของตนเอง แต่เด็กกลับเกิดความสับสนที่ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองที่แท้จริงเป็นยังไงกันแน่ เพราะความคิดและพฤติกรรมถูกชักใยโดยพ่อแม่หลงตนมาโดยตลอด หลายคนจึงเกิดวิกฤตหนักไปกว่าปกติของเด็กวัยรุ่นในช่วงเวลานี้ซึ่งเกิดวิกฤติง่ายอยู่แล้วเสียอีก ซึ่งหลังจากทำตัวดีเพื่อเอาใจพ่อแม่มาโดยตลอดพอมาเกิดปัญหาในช่วงวัยรุ่นนี้ก็ยิ่งทำให้พ่อแม่หลงตนรู้สึกว่าเสียการควบคุมลูก ลูกท้าทายอำนาจของตนเอง ขัดกับความต้องการของพ่อแม่หลงตนที่ต้องการเป็นศูนย์กลางอำนาจ หลายครอบครัวที่มีพ่อแม่หลงตนจึงเกิดการทะเลาะวิวาทบาดหมางกันอย่างรุนแรงกับลูกวัยรุ่นได้ ถึงขั้นลงไม้ลงมือกันบาดเจ็บก็มี

5. ทำให้กลายเป็นคนติดสมบูรณ์แบบ(perfectionism)หรือพยายามเอาใจคนอื่นมากเกินไปตลอดเวลา

รูปแบบความสัมพันธ์ที่ผิดปกติที่เรียนรู้มาทำให้บางคนมองว่าตนเองจะต้องเพอร์เฟคทุกอย่างเท่านั้นถึงจะได้รับความรักและการยอมรับ หวาดกลัวความล้มเหลวมากเพราะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาจากพ่อแม่หลงตน บางคนก็กลายเป็นคนที่ถูกชักจูงได้ง่ายหรือต้องพยายามทำให้คนอื่นพอใจตลอดเวลาเนื่องจากจะรู้สึกผิดตลอดเวลาถ้าคนอื่นเกิดความไม่พอใจ กลายเป็นคนมีความวิตกกังวลอย่างสูงทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น

บทสรุป ผลกระทบของผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูมาจากพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตน (Narcissistic Personality Disorder)

ผลกระทบจากการเป็นเหยื่อการเลี้ยงดูจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหลงตัวเองส่งผลอย่างใหญ่หลวงด้านลบในเกือบทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพจิตที่ทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลง่าย ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่รู้จักอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตนเอง ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระได้ มีปัญหามากในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ในด้านการงานก็จะติดความเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์ได้ง่ายเพราะกลัวความผิดพลาดและล้มเหลวมาก เนื่องจากมองว่าผลงานของตนเองแปรผันโดยตรงกับความรักและการยอมรับที่จะได้จากผู้อื่น เมื่อมีครอบครัวก็อาจจะเลือกคู่ครองที่เป็นคนหลงตนเหมือนกับพ่อแม่ของตนเองอีก หรืออาจพัฒนากลายเป็นพ่อแม่หลงตนเสียเองแล้วส่งต่อวงจรนี้ให้ลูกหลานต่อไป…

ในบทความหน้าเราก็จะมาพูดกันถึงเรื่องวิธีการที่จะหาทางเยียวยาบาดแผลของเหยื่อจากพ่อแม่ที่เป็นโรคหลงตน และหยุดวงจรลบไว้แค่นี้ที่ตัวเองกันต่อไปกันค่ะ

Related Post