phone x
+66-63-654-0999
line x
email x
morningmindcounseling@gmail.com
ทฤษฎีพัฒนาการของมนุษย์ - Morning Mind Clinic & Counseling Center
Morning Mind Clinic & Counseling Center พัฒนาการจิตใจมนุษย์ ทฤษฎีพัฒนาการของมนุษย์

ทฤษฎีพัฒนาการของมนุษย์



ทฤษฎีจิตสังคมของอีริค อีริคสัน (Erik Erikson’s Psychosocial Development Theory)

อีริค อีริคสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน เชื่อว่าบุคลิกภาพของมนุษย์หล่อหลอมมาจากการเติบโตไปแต่ละช่วงวัยซึ่งจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างความต้องการทางจิตใจ(psycho) กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม(social)ที่ต้องเผชิญ ความขัดแย้งเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นด่านภารกิจที่ต้องทำสำเร็จถึงจะผ่านพ้นไปได้และได้รางวัลแต่ละด่านคือคุณสมบัติบางอย่าง(vitue)ประจำช่วงวัยนั้น ซึ่งจะติดตัวไปตลอดทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะตามวัย ซึ่งมนุษย์เราก็มักจะมีช่วงพัฒนาการที่ติดขัดแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ชีวิตที่แต่ละคนเผชิญมาไม่เหมือนกัน ซึ่งก็มีผลหล่อหลอมให้เรากลายเป็นเราในทุกวันนี้ มีความเข้มแข็งหรือจุดอ่อนแอแบบนี้ การที่เราได้ศึกษาทำความเข้าใจทฤษฎีของอีริคสันเพื่อที่จะได้ลองวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจตนเองดู เมื่อพอเข้าใจแล้วว่ามีภารกิจขั้นไหนที่เรายังทำได้ไม่สมบูรณ์ยังไม่ได้เราก็ค่อยๆหาทางพัฒนาตัวเองต่อไปได้…

8 ขั้นตอนพัฒนาการทางจิตสังคมตามทฤษฎีของอีริค อีริคสัน

1. Trust vs. Mistrust (แรกเกิด – 18 เดือน)

เหตุการณ์สำคัญ : ได้รับการดูแล ป้อนอาหาร(feeding)

เด็กวัยทารกนี้จะพึ่งพาผู้ใหญ่ในการดูแลให้ความรักความปลอดภัยและให้อาหาร ถ้าเด็กถูกละเลย ไม่ตอบสนองความต้องการ หรือถูกทารุณกรรม จะไม่สามารถรู้สึกไว้ใจผู้ใหญ่ได้(mistrust) ถ้าเด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ดีจนผ่านช่วงนี้เด็กจะรู้สึกไว้วางใจต่อผู้ใหญ่นั้นคือรู้สึกไว้วางใจต่อผู้อื่นและต่อโลกใบนี้ได้(trust) ทุกครั้งที่เกิดความยากลำบากในชีวิตในช่วงเวลาต่อมาก็จะยังมีความหวังอยู่เสมอว่าจะผ่านพ้นไปได้ มีศรัทธาในโลกใบนี้ว่ายังน่าอยู่ เดี๋ยวจะมีสิ่งดีเกิดขึ้นหลังจากสิ่งที่ร้ายผ่านพ้นไปแล้ว

คุณค่าที่ได้ : Hope

2. Autonomy vs. Shame and Doubt (18 เดือน – 3ปี )

เหตุการณ์สำคัญ : ฝึกขับถ่าย(toilet training)

เมื่อถึงวัยเตาะแตะนี้เด็กจะเปลี่ยนจากการต้องพึ่งพิงคนอื่นเกือบ 100% มาเป็นเริ่มค่อยๆพึ่งพิงตนเองมากขึ้นทีละน้อย สามารถหัดควบคุมการขับถ่ายได้ ไม่ปล่อยเรี่ยราด ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้มีความรู้สึกมีอำนาจควบคุมในตนเอง(autonomy) เริ่มแสดงออกซึ่งความต้องการ แสดงออกถึงการเลือกได้ว่าจะเอาหรือไม่เอาอะไร เช่นเลือกอาหาร เลือกของเล่น ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เด็กรู้สึกล้มเหลวมากไป เช่น ถูกตำหนิดุด่ารุนแรงทุกครั้งที่ปัสสาวะราด ก็จะเริ่มเกิดความละอายใจและสงสัยในตนเอง(shame and doubt) ไม่มั่นใจว่าจะพึ่งตนเองได้ แต่ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ด้วยดีเด็กจะพัฒนาความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง(will) มั่นใจว่าตัวเองเอาตัวรอดได้

คุณค่าที่ได้ : Will

3. Initiative vs. Guilt (3 – 5ปี )

เหตุการณ์สำคัญ : เริ่มสำรวจสิ่งแวดล้อม(exploration)

เด็กวัยอนุบาลนี้จะเปลี่ยนจากการฝึกควบคุมตนเองมาเป็น ฝึกการจัดการกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่นมือจับสีเทียนขีดเขียนได้ตามใจชอบ เริ่มสนใจเล่นกับเด็กคนอื่น สร้างปฏิสัมพันธ์นอกครอบครัว ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเองที่จะริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ(initiative) ถ้าเด็กคนไหนที่ถูกดุถูกห้ามมากเกินไปเวลาจะทำอะไรจะเกิดความรู้สึกผิด(guilt) ถ้าผ่านวัยนี้ไปได้ด้วยดีก็จะเป็นคนที่ทำอะไรมีเป้าหมาย มีเจตจำนงต่อตัวเองชัดเจนว่าจะทำอะไรไปเพื่ออะไร แต่ถ้าช่วงชีวิตนี้พัฒนาไม่ดี ก็จะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเป้าหมาย เลื่อนๆลอยๆ ไม่กล้าริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวจะทำได้ไม่ดี กลัวถูกตำหนิ

คุณค่าที่ได้ : Purpose

4. Industry vs. Inferiority (5 – 13ปี )

เหตุการณ์สำคัญ : เข้าโรงเรียน,ได้รับการศึกษา(school)

ช่วงนี้จะได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ ถ้าในวัยนี้ได้รับการส่งเสริมให้กำลังใจจากผู้ปกครองและครู รู้สึกว่าตนเองทำสำเร็จในด้านการศึกษาและกิจกรรม รู้สึกมั่นใจว่าถ้าตนเองตั้งใจจริง มีประสบการณ์ว่าถ้าใช้ความวิริยะอุตสาหะ(industry) ก็จะประสบความสำเร็จได้ เด็กก็จะเกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง พร้อมฝ่าฟันอุปสรรค แต่ถ้าวัยนี้รู้สึกว่าตนเองล้มเหลวไม่ได้รับการสนับสนุนให้กำลังใจ มีแต่ถูกดุตำหนิ เช่นว่า โง่ ก็จะทำให้กลายเป็นรู้สึกต่ำต้อยกว่าคนอื่น(inferiority) คิดว่าตนเองไม่มีศักยภาพไม่มีความสามารถ

คุณค่าที่ได้ : Confidence

5. Identity vs. Role Confusion (13 – 21ปี )

เหตุการณ์สำคัญ : เริ่มต้องมีกลุ่มมีเพื่อนฝูง(social relationships)

เป็นวัยที่เริ่มมีฮอร์โมนโตเป็นหนุ่มสาว ซึ่งวัยรุ่นช่วงนี้จะเผชิญกับความสับสน(role confusion) ไม่ว่าจะเป็นสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป และการที่ต้องเริ่มเปลี่ยนบทบาทของเด็กไปเป็นบทบาทของผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้จะทำให้สามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพมั่นคง มีจุดยืนชัดเจน รู้จักความเป็นตัวของตัวเอง(identity)และสามารถปรับความเป็นตัวเองนั้นให้เข้ากับสังคมได้ด้วย คือวางตนเหมาะสมกับกาลเทศะและมีความรับผิดชอบต่อสังคม(fidelity)

คุณค่าที่ได้ : Fidelity

6. Intimacy vs. Isolation(21 – 40ปี )

เหตุการณ์สำคัญ : มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดผูกพัน(relationships)

เป็นวัยที่สนใจแสวงคู่แท้ทางจิตวิญญาณที่จะสนิทสนมผูกพันกัน(intimacy) อาจเป็นคู่ครอง หรือมิตรสหายแท้ โดยอีริคสันเชื่อว่าขั้นนี้จะสำเร็จได้ด้วยดีจะต้องพัฒนาขั้นที่ห้าให้ได้ดีก่อนเพื่อเป็นพื้นฐาน คือต้องรู้จักและยอมรับตัวตนที่แท้จริง(identity)ก่อน ถึงจะหาคนที่สามารถเข้ากับเราได้จริงๆซึ่งจะผูกพันกันได้ระยะยาว ทำให้รู้สึกมั่นคงในชีวิต แต่ถ้าขั้นนี้ไม่สำเร็จก็จะรู้สึกเหงาโดดเดี่ยว(isolation) มองจากภายนอกอาจดูเหมือนมีคนรัก มีเพื่อนฝูงมากมาย แต่ไม่สามารถหาคนที่เข้าใจผูกพันกันได้จริงๆ

คุณค่าที่ได้ : Love

7. Generativity vs. Stagnation (40 – 65ปี )

เหตุการณ์สำคัญ :ทำงาน/สร้างครอบครัว/มีลูก(work and parenthood)

เป็นวัยที่ควรจะเลิกสนใจแต่ตนเองเป็นศูนย์กลาง จะพัฒนาเป็น “ผู้สร้าง ผู้ให้ ผู้ดูแล” (generativity) เหมือนแม่น้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มฉ่ำต่อผู้อื่น อาจจะทำสิ่งดีๆมีประโยชน์ให้สังคมให้โลกโดยผ่านการทำงานอาชีพสุจริต หรือบางคนก็คอยดูแลครอบครัว(ลูก พ่อแม่ สัตว์เลี้ยง) ถ้าผ่านวัยนี้ไปได้ด้วยดีจะรู้สึกภาคภูมิใจอิ่มใจที่ตนเองได้เป็นผู้ให้ ได้ดูแลผู้อื่น(care) แต่ถ้าล้มเหลวในช่วงนี้จะเปนคนที่แห้งแล้งตื้นเขินเอาแต่ประโยชน์ของตนเอง ถึงจะมีครอบครัวหรือทำงานแต่ก็มีไว้แค่เพียงส่งเสริมให้ตนเองดูดีเท่านั้น ในใจมีแต่ความตระหนี่ไม่ได้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยากจะมอบสิ่งดีๆให้ผู้อื่นแต่อย่างใด เหมือนน้ำนิ่งขังในบ่อ(stagnation)

คุณค่าที่ได้ : Care

8. Ego Integrity vs. Despair (65ปีขึ้นไป)

เหตุการณ์สำคัญ :มองย้อนกลับมายังชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด(reflection on life)

เป็นช่วงวัยที่เรียกว่า “หลังเกษียณ” ซึ่งจุดสำคัญคือการตกผลึกช่วงเวลาชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด(ego integrity) เกิดเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลังได้(wisdom) ถ้าผ่านช่วงนี้ได้ดีก็จะสามารถใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสง่างาม มีความสุขสงบในใจ มีความพึงพอใจกับชีวิต แต่ถ้าผ่านไม่ได้ก็จะรู้สึกขมขื่นกับชีวิต มองย้อนกลับไปมีแต่ความเสียใจและอยากแก้ไขอดีต(despair)

คุณค่าที่ได้ : Wisdom

หมายเหตุ*

• ตามทฤษฎีของอีริคสันไม่ได้หมายความว่าถ้าเราติดขัดอยู่ในช่วงไหนแล้วเราจะไม่สามารถพัฒนาในขั้นต่อมาได้ แต่ว่าการพัฒนาขั้นก่อนหน้าได้ดี จะเอื้อต่อการพัฒนาขั้นถัดไปได้สำเร็จง่ายขึ้น

• ถึงทฤษฎีของอีริคสันจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางและมีประโยชน์มากในการเห็นภาพพัฒนาการแต่ละช่วงวัยได้ชัดเจน แต่จุดด้อยของทฤษฎีนี้คือไม่อธิบายชัดเจนว่าแล้วจะต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะผ่านแต่ละขั้นตอนได้ดี


Related Post